Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

ปัญหาเด็กติดเกม

ปัญหาเด็กติดเกม (Problem children stick game.)

ลูกติดเกม เล่นวันละหลายชั่วโมง ห้ามก็ไม่ฟัง จนไม่ทำการบ้าน ไม่อ่านหนังสือเรียน การเรียนตก ชวนไปไหนก็ไม่ไป อยากอยู่แต่บ้านเล่นเกม แล้วลูกจะมีพฤติกรรมเลียนแบบเกมหรือไม่    
คำถามเหล่านี้คงวนเวียนอยู่ในความคิดของพ่อแม่ ผู้ปกครองยุคนี้ตลอดเวลาและคำถามที่ตามมาคือ จะทำอย่างไรจึงจะป้องกันไม่ให้ลูกติดเกมหรือถ้าติดแล้วจะทำอย่างไร แต่คำถามแรกที่ต้องตอบได้ก่อนคือ ทำไมเกมออนไลน์ถึงทำให้เด็กติดมากมายขนาดนี้ ก็เพราะมีสังคมซ่อนอยู่ เด็กจะนัดเพื่อนๆที่โรงเรียนมาเล่นเกมด้วยกันในเวลาที่นัดกันไว้ สามารถแชทคุยกันได้ หรืออาจมีคนอื่นที่ไม่รู้จักมาเล่นด้วย และเริ่มคุ้นเคยกัน สำหรับเด็กวัยรุ่นที่พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ สังคมในเกมออนไลน์เหล่านี้ช่วยแก้เหงา สำหรับพวกเขาได้เป็นอย่างดีและเกมยังเป็นช่องทางในการหารายได้ของเด็ก คือการเล่นตัวละครในเกมให้มีความสามารถสูงที่เรียกอีกอย่างว่า Level สูง แล้วนำตัวละครนั้นมาขายเป็นเงิน ทำให้เด็กภูมิใจว่าสามารถหาเงินได้เอง เหล่านี้ก็เป็นสาเหตุให้เด็กติดเกมค่ะ เมื่อเข้าใจตามนี้แล้ว

มาทราบถึงวิธีแก้ไขปัญหากันนะ      

1. อย่าพยายามสั่งห้ามลูกเล่นเกมทันที เพราะเป็นไปไม่ได้ มีแต่จะเพิ่มแรงต่อต้านจากลูก
       
2. จัดสภาพแวดล้อมในครอบครัวให้เหมาะสม เช่นวางเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ในพื้นที่ส่วนรวมของบ้าน
       
3. หากในบ้านยังไม่มีกฎหรือกติกาในการเล่นเกม จำเป็นต้องพูดคุยกับเด็กให้เด็กมีส่วนร่วมในการกำหนดเวลาการเล่นที่ชัดเจน เล่นได้วันไหนบ้าง เวลาใด นานเท่าไหร่ ค่อย ๆ ปรับเวลาการเล่นให้ลดลงจนเหมาะสม แล้วถ้าเด็กทำตามกติกาไม่ได้เด็กจะให้พ่อแม่ช่วยเขาอย่างไร
       
4. ให้รางวัลเมื่อลูกทำตามกติกาได้ และหากเด็กไม่ทำตามกฎกติกา พ่อแม่อาจลงโทษ โดยการตัดค่าขนม หรืองดชั่วโมงเล่นเกมในวันต่อไป เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าหากเขาไม่ทำตามเงื่อนไขเขาจะต้องแลกกับสิ่งที่เขา โปรดปรานด้วยเช่นกัน
       
5. สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว คือ การที่พ่อแม่ปรับทัศนคติในการดูแลลูก จัดเวลาทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว พยายามเป็นที่ปรึกษาให้ลูก หลีกเลี่ยงการบังคับ การบ่นซ้ำซาก ให้ใช้วิธีการพูดคุยถึงผลดีผลเสียของเกมอย่างไม่ต้องมีใครผิดใครถูก เล่นเกมกับลูกเป็นครั้งคราว ช่วยลูกเลือกเกมที่เหมาะสม เป็นต้น
       
6. พ่อแม่ควรมีเวลาอยู่กับเด็กให้มากขึ้น พาเด็กทำกิจกรรมอย่างอื่นที่สนุกสนานและเป็นกิจกรรมที่เด็กชอบ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางเลือกอื่นทำเวลาว่าง ซึ่งควรเป็นงานที่เด็กชอบและถนัด เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา งานศิลปะ ปลูกต้นไม้
       
สุดท้ายนี้ เด็กจะไม่ติดเกม ไม่ติดเพื่อน ไม่ติดยาเสพติด ไม่หนีออกจากบ้าน ถ้าเขามีที่พักใจมีบ้านที่อบอุ่น มีพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีเวลาและพร้อมที่จะเดินเคียงข้างไปกับเขา ไม่ว่าเขาจะเจอเรื่องใดผ่านเข้ามาในชีวิต 

ระดับการเล่นเกมของเด็กที่พ่อแม่ควรสังเกตและควรทำความเข้าใจ เพื่อหาทางแก้ไขให้เหมาะสม โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
1.เด็กเริ่มชอบเล่นเกม
คือเล่นตามเพื่อน ทำอะไรอยากรู้อยากเห็น เล่นเพื่อความสนุก

2.เด็กหลงใหลหรือคลั่งไคล้เกม
คือเล่นแล้วเพลิน ภูมิใจที่ชนะหรือผ่านด่านที่สูงขึ้นได้ ต้องการมีเพื่อนเล่นด้วย พูดในเรื่องเดียวกัน มีการจัดเวลาเล่นในชีวิตประจำวัน คือเล่นยามว่าง งานอดิเรก แต่การเรียนและชีวิตประจำวันปกติ

 3.เด็กติดเกม
หมายถึง มีกิจกรรมเล่นเกมอย่างเดียวโดยไม่สนใจอย่างอื่น หมกมุ่นอยู่กับเกมทั้งวันทั้งคืน ไม่ทำการบ้าน ไม่ทำงานส่งครู ไม่ไปโรงเรียน ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ คือกินข้าวไม่เป็นเวลา นอนดึกหรือไม่นอนเลย คิดแต่เรื่องเกม มองเห็นภาพการเล่นหรือตัวละครเกมในสมอง ตนเอง อาจเล่นพนันเกมหรือแสดงออกอย่างก้าวร้าว
“ปัจจุบันพ่อแม่สับสนและเข้าใจผิดว่าการห้ามไม่ให้ลูกเล่นเกมเป็นการปิดกั้นความคิดและจินตนาการ แต่ความจริงการที่เด็กไม่ได้เล่นเกมไม่ถือเป็นการปิดกั้นจินตนาการ ในทางกลับกันการเล่นเกมเป็นการรบกวนจินตนาการ เพราะเกมมีโครง สร้างที่ชัดเจน ว่าควรเล่นหรือทำอย่างไรและไม่เปิดโอกาสให้เด็กใช้จินตนาการ ซึ่งแก้ปัญหาเด็กติดเกมที่ได้ผลนั้นไม่ควรใช้การห้ามสำหรับเด็ก ควรพูดคุยฟังความคิดเห็นของเด็กและร่วมให้เด็กช่วยกันแก้ปัญหา ผู้ใหญ่ต้องมั่นใจว่าตนเองมีเหตุผลเพียงพอที่โน้มน้าวให้เด็กลดเวลาการเล่นเกม ขณะเดียวกันต้องหาทางออกหรือกิจกรรมอื่นที่สร้างสรรค์มาทดแทน” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นกล่าว

การเล่นเกมของเด็กในระยะที่ 1-2 เป็นช่วงที่เด็กเริ่มชอบและหลงใหลเกม ผู้ใหญ่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมกับเด็กในขณะที่เด็กเล่นเกม และพิจารณาเกมที่เหมาะสม วันธรรมดาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ส่วนเสาร์อาทิตย์ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง เพราะในระยะนี้เป็นระดับที่พ่อแม่ทำความเข้าใจและชี้แนะให้เล่นอย่างเหมาะสมได้

ซึ่งพ่อแม่ควรใช้วิธีต่อไปนี้ คือสร้างข้อตกลงในการเล่น สร้างเสริมวินัยในตนเองของเด็ก เช่น ฝึกให้เด็กเล่นจนครบเวลาตามที่กำหนดไว้และให้ลูกปิดคอมพิวเตอร์ด้วยตนเอง ถัดมาคือหากิจกรรมเสริมที่น่าสนใจและสนุกสำหรับเด็ก เช่น เล่นบิงโก ทำงานศิลปะและเกมภาษาอังกฤษ รวมถึงหาปัญหาที่อาจซ่อนอยู่ในตัวเด็ก เช่น สมาธิสั้น ซึมเศร้า วิตกกังวล ดื้อ ก้าวร้าว แต่อย่างไรก็ตามข้อสังเกตที่สามารถทราบว่าลูกติดเกมหรือไม่นั้น ดูได้จากลักษณะการเล่น หากเล่นแบบไม่หลับไม่นอน ไม่เรียนก็น่าจะมีปัญหารุนแรง ควรพบจิตแพทย์ เพื่อจะมีการพูดคุยให้เด็กเห็นปัญหาและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนโดยใช้คำพูดเชิงบวก

เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย menmen

รายการบล็อกของฉัน